Logo  
 
หน้าแรก >ปกิณกะ> ประเพณีบุญชาวกะเหรี่ยงบ้านตีนตก
 
 
   
ไทย /English
ประเพณีบุญของชาวกะเหรี่ยงบ้านตีนตก
 
ประเพณีสร้างสะพานไม้เป็นพุทธบูชา
 
ประเพณีนี้แรกเริ่มเดิมที  ชาวบ้านจะทำกันในวันเพ็ญเดือน ๕  ของทุกปี  โดยการช่วยกันหาไม้ไผ่มาต่อกันเป็นสะพานข้ามห้วยน้ำ  และนำหมากพลูแขวนไว้บนสะพาน  เพื่อที่ว่าเมื่อมีคนข้ามสะพานจะได้หยิบไปใช้ได้  ด้วยความเชื่อว่าเป็นการทำบุญบูชาคุณของพระพุทธเจ้า  ความเชื่อนี้มีการเล่าสืบต่อกันมาในหมู่ชาวกะเหรี่ยงว่า  ในสมัยพุทธกาลนานมา  พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดำเนินออกโปรดหมู่สัตว์ไปทั่วทั้งแผ่นดิน  ครั้นเสด็จมาถึงยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ปรากฏว่ามีลำน้ำขวางกั้นอยู่  ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นก็ได้เริ่มก่อสร้างสะพานสำหรับข้ามลำน้ำไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว  แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์  คงเหลือเพียงช่องว่างพอที่จะกระโดดข้ามถึงกันได้เท่านั้น  แต่ด้วยความไม่เหมาะกับสมณะสารูป  พระพุทธองค์จึงทรงหยุดนิ่งอยู่ตรงช่องว่างระหว่างสะพานนั้น  มิได้กระโดดข้ามไป  ก็พอดีมีชายหนุ่มคนหนึ่งเห็นอาการเช่นนั้นของพระองค์  ประกอบกับมีศรัทธาเกิดขึ้นภายในใจ  ชายคนนั้นจึงได้ทอดตัวของตนลงระหว่างช่องว่างของสะพานนั้น  เพื่อให้พระพุทธองค์สามารถเสด็จข้ามไปได้  กล่าวกันว่า  ด้วยผลบุญในครั้งนั้น  ส่งผลให้ชายหนุ่มได้ไปบังเกิดบนสวรรค์  และได้กลับมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งในกาลต่อมา
จากเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อกันมานี้  ทำให้เกิดประเพณีอีกอย่างหนึ่งขึ้นในหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง  นอกเหนือไปจากการสร้างสะพานไม้ไผ่  นั่นก็คือประเพณีอุ้มพระสรงน้ำ
 
 
ประเพณีอุ้มพระสรงน้ำ
 
songkarn001
songkarn002
 
ประเพณีอุ้มพระสรงน้ำนี้  โดยปกติชาวบ้านจะจัดให้มีขึ้นในวันสงกรานต์ ซึ่งอิงมาจากความเชื่อเรื่องที่ชายหนุ่มทอดตัวเป็นสะพานให้พระพุทธเจ้าได้เสด็จข้ามลำน้ำ ทั้งยังเป็นการทำบุญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ตามคติโบราณที่ถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่อีกด้วย พิธีการก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยชาวบ้านจะจัดเตรียมที่สำหรับสรงน้ำพระขึ้นภายในวัด ด้วยการตัดกระบอกไม้ไผ่ให้เป็นลำราง เพื่อจะได้เทน้ำจากด้านหลังไปรดพระคุณเจ้าที่อยู่ทางปลายลำไม้ไผ่ด้านหน้า เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ได้นิมนต์พระสงฆ์เอาไว้ ชาวบ้านก็จะมารวมตัวกันคุกเข่าทอดตัวลงเป็นสะพานให้พระสงฆ์เดินเหยียบหลังไปยังสถานที่ที่จัดเตรียมเอาไว้สรงน้ำพระ
อนึ่ง  นอกจากความเชื่อว่าเป็นการทำบุญประการหนึ่งแล้ว  ชาวบ้านยังมีความเชื่อด้วยว่าการให้พระได้เดินเหยียบไปบนหลังของตนจะทำให้ทุกข์  โศก  โรค  ภัย  มลายหายสิ้นไป  คล้ายๆ กับเป็นการสะเดาะเคราะห์อย่างหนึ่ง  แต่ในบางปีหากมีชาวบ้านมาไม่มาก  ก็อาจมีการเปลี่ยนจากการทอดตัวเป็นสะพานมาใช้ชายหนุ่มสองคนประสานมือเข้าด้วยกัน  แล้วให้พระภิกษุนั่งตรงกลาง  จากนั้นก็ช่วยกันอุ้มพระภิกษุไปจนถึงที่สรงน้ำก็มี
 
songkarn003
songkarn004
 
 
ประเพณีค้ำต้นโพธิ์
 
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในหมู่ชนชาวกะเหรี่ยงว่า  มีชายอยู่คนหนึ่งได้พบกับยมทูต  และได้ทราบจากบัญชีของยมทูตตนนั้นว่าตนเองจะถึงฆาตในวันรุ่งขึ้น  ด้วยความกลัวความตายอันจะมาถึงตนในไม่ช้า  ทำให้ชายคนนั้นมีความกระวนกระวายใจไม่สามารถอยู่เป็นสุขในบ้านของตนเองได้  จึงได้ออกไปเดินเล่นนอกบ้าน  ด้วยหวังว่าจะบรรเทาความกลัดกลุ้มนั้นได้  ในขณะที่กำลังเดินอยู่นั้น  พลันก็ได้พบเห็นต้นไม้ที่กำลังล้มเอนใกล้จะโค่นอยู่ต้นหนึ่ง  เมื่อชายคนนั้นสังเกตได้ว่าต้นไม้นั้นคือต้นโพธิ์  ก็ทำให้ระลึกขึ้นได้ว่า  ต้นโพธิ์นั้นเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  เมื่อระลึกได้ดังนั้น  ประกอบกับความศรัทธาที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิม  ชายคนนั้นจึงตัดสินใจที่จะรักษาต้นโพธิ์นั้นไว้  เพื่อเป็นการสักการะพระผู้มีพระภาคเจ้า  โดยเริ่มจากไปนำน้ำมารดดินบริเวณโคนต้นโพธิ์ให้ชุ่ม  แล้วค่อยๆ ใช้ไม้ค้ำต้นโพธิ์  ดัดต้นไปทีละน้อย  จนต้นโพธิ์กลับมาตั้งตรงได้เป็นผลสำเร็จ  ครั้นเมื่อถึงกำหนดเวลาที่ยมทูตจะมารับตัวชายคนนั้นในวันรุ่งขึ้น  ก่อนที่ยมทูตจะพาตัวเขาไปก็ได้ตรวจดูบัญชีของตนอีกครั้งหนึ่ง  ปรากฏว่า  ชื่อของชายคนนั้นไม่อยู่ในบัญชีของคนที่จะตายในวันนี้แล้ว  ยมทูตทั้งแปลกใจและสงสัย  จนถึงกับเอ่ยปากถามชายคนนั้นว่าเมื่อวานได้ไปทำเหตุอะไรมา  จึงเป็นผลให้รายชื่อในบัญชีของยมทูตคลาดเคลื่อนได้เช่นนี้  ในตอนแรกชายคนนั้นก็บอกว่าไม่ได้ไปทำเหตุอะไรพิเศษมาดอก  แต่เมื่อถูกยมทูตซักหนักเข้า  จึงได้นึกถึงเรื่องที่ได้ไปค้ำต้นโพธิ์มา  ก็เลยเล่าให้ยมทูตฟัง  ด้วยเหตุนี้  ชายหนุ่มคนนั้นจึงได้มีอายุสืบต่อมาได้  และเป็นเรื่องเล่าขานจนกลายมาเป็นประเพณีในหมู่ชาวกะเหรี่ยง  ที่ปีหนึ่งจะต้องนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน  เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา  กระทั่งสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
 
 
 
 
home
history
biography
gallery
thamma
etc
map
contact
 
 
 
วันนี้
12
ทั้งหมด
70,697